วิชา มหาคุณ กระตุ้นเตือนสังคมเนื่องในวันต่อต้านคอรัปชั่นสากล “การต้านทุจริตต้องการความร่วมมือทั้งระดับชาติและระดับโลก”
ตามที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (The United Nations : UN) มีมติเห็นชอบประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti – Corruption Day) โดยในปีนี้ มูลนิธิต่อต้านการทุจริต จัดกิจกรรมแต้มสี เติมฝัน ต่อต้านทุจริต โดยร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายสร้างสรรค์ศิลปะภาพวาดและประทับฝ่ามือเพื่อแสดงสัญลักษณ์การร่วมกันต่อต้านการทุจริตบริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริตเป็นประธานในการจัดงาน “แต้มสีเติมฝัน ต่อต้านการทุจริต” เนื่องในวันต่อต้านการคอรัปชั่นสากล 9 ธันวาคม 2563 ณ หอศิลปแห่งกรุงเทพมหานคร โดยภายในงานมีกิจกรรมให้ผู้ร่วมงานได้วาดภาพระบายสีและประทับฝ่ามือลงบนภาพวาด เพื่อแสดงสัญลักษณ์การร่วมกันต่อต้านการทุจริต โดยมีเครือข่ายสนับสนุนการจัดงาน เช่น กรุงเทพมหานคร ที่จะได้ดำเนินการโครงการนี้ในโรงเรียนทั้ง 50 เขต , บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) ผู้สนับสนุนกิจกรรม , บริษัท ทีโอเอ สนับสนุนสีสำหรับสร้างสรรค์งานศิลปะ ,คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น พร้อมมีการจัดแสดงจากเด็กๆ โครงการเยาวชนช่อสะอาด เช่น การแสดงศิลปะพื้นบ้านลำตัดต่อต้านการทุจริต จากโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี , การแสดงเพลงฉ่อยต่อต้านทุจริต จากโรงเรียนอัสสัมชัญ สมุทรปราการ โดยผลงานศิลปะที่ร่วมกันวาดภาพและประทับฝ่ามือ จะจัดแสดงบริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ต่อต้านคอรัปชั่นของประเทศไทย เนื่องในวันต่อต้านการคอรัปชั่นสากลที่ทั่วโลกร่วมกันจัดกิจกรรมและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า “การใช้ศิลปะเพื่อสร้างสรรค์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเด็กเยาวชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการการปลูกฝั่งจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริต วันนี้เราได้เห็นเครือข่ายทั้งจากโรงเรียน เด็กๆ ครูอาจารย์ ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้แทนภาคเอกชน ศิลปิน หลายภาคส่วน มาร่วมกันวาดภาพ สร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำกันทั่วโลก คนทั้งโลกให้ความสำคัญ การต่อต้านการคอรัปชั่นจึงจะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำแบบร่วมมือกันเป็นเครือข่าย ร่วมมือกัน อย่านิ่งดูดาย โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ อยากให้มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้แล้วนำไปเผยแพร่ เพราะเยาวชนเองเป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก เด็กๆ สามารถไปบอกพ่อแม่ว่าหนูไม่เอานะ หนูไม่โกงนะ เมื่อโตขึ้นมาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีพลังมาช่วยพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป มูลต่อต้านการทุจริตเราถือว่าเยาวชนสำคัญที่สุด เพราะเยาวชนจะเป็นต้นกล้า ที่จะงอกงาม เติบโตขึ้นในแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ต่อไป เราต้องช่วยกันรักษาแผ่นดินของเรานะครับ”
พลเอก ธีระเดช ฉัตรเสถียรพงศ์ รองประธานกรรมการ มูลนิธิต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า “เหตุผลที่มูลนิธิต่อต้านการทุจริตดำเนินการโครงการแต้มสีเติมฝัน เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกเด็กๆ ให้แสดงความคิดเห็นต่อการต่อต้านการทุจริต และการร่วมสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น ผ่านการแสดงภาพศิลปะบนกำแพง ซึ่งสามารถส่งต่อแนวคิดให้กับเด็กๆ คนอื่นๆ ที่ได้มองเห็นภาพวาดเหล่านี้ รวมถึงผู้ปกครอง ชุมชน ได้เห็น และเกิดจิตสำนึกในการรักความถูกต้อง รักความซื่อสัตย์สุจริต มูลนิธิต่อต้านการทุจริต เน้นการปลูกฝังที่เยาวชน ให้มีจิตสำนึกที่ดี แยกแยะสิ่งดีไม่ดี ผลประโยชน์ส่วนตน ผลประโยชน์ส่วนรวม รักในความซื่อสัตย์สุจริต รังเกียจและร่วมกันต่อต้านทุจริต เราต้องสร้างเด็กดี คนดี ร่วมต้านทุจริตให้มากที่สุด การทุจริตก็จะลดน้อยลง เมื่อเด็กๆ เป็นเด็กดีมีคุณธรรม ก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพมาช่วยพัฒนาประเทศเราต่อไป”
นางศิริรัตน์ วสุวัต ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ มูลนิธิต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า “โครงการแต้มสีเติมฝัน ได้ทำข้อตกลง MOU กับกรุงเทพมหานคร เปิดโอกาสให้มูลนิธิต่อต้านการทุจริตได้ลงพื้นที่ไปทำโครงการวาดภาพบนผนังกำแพงร่วมกับเด็กๆ คุณครู ผู้บริหารโรงเรียน และชุมชน ทั้ง 50 เขต ซึ่งแสดงให้เห็นพลังของ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) ของชุมชน กทม.ที่เข้มแข็ง และจะเป็นแบบอย่างที่มูลนิธิต่อต้านการทุจริตจะได้ขยายกิจกรรมนี้ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป”
โครงการแต้มสีเติมฝันต่อต้านการทุจริต เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิต่อต้านการทุจริต และกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชนเขตกรุงเทพมหานคร ได้รับการเสริมสร้างองค์ความรู้ การเฝ้าระวัง และการมีส่วนร่วมในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ด้วยการวาดภาพ เพ้นท์สีลงบนกำแพงในโรงเรียนต้นแบบ ในเฟสแรกจำนวน 17 แห่ง 17 เขต และ 6 ชุมชน โดยการนำของ ศาสตราจารย์ พิชัย สดภิบาล ที่นำคณะนักศึกษาจาก สาขาการออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(ปี 2 ,ปี 3) มาร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะกับน้องๆ นักเรียนและชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้นักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครได้มีโอกาสใช้ความคิด จินตนาการและแรงบันดาลใจในการต่อต้านการทุจริตผ่านในรูปแบบทางศิลปะ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) และได้รับการสนับสนุนสีในการวาดภาพจากบริษัท ทีโอเอ เพ้นท์(ประเทศไทย) (สี TOA) โดยจะดำเนินการวาดภาพศิลปะต่อต้านการทุจริตใน 17 โรงเรียนครบแล้ว และจะดำเนินการให้ครบใน 50 เขตของกรุงเทพมหานครในเฟสต่อๆ ไป
สหประชาชาติ (UN) กำหนดให้ วันที่ 9 ธ.ค. ของทุกปี เป็นวันต่อต้านการทุจริตสากล (International Anti-Corruption Day) กำหนดขึ้นตั้งแต่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption) ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2546 เป็นต้นมา ประเทศภาคีสมาชิก UN 191 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย ได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาฯ ระหว่างวันที่ 9 -11 ธันวาคม 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ดังนั้น UN จึงประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day)