‘วิชา มหาคุณ’ ร่องชีวิต รอยอาชญากร

2020-09-26 โดย เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

การอ่านสำนวนคดีเป็นตั้งๆ คงไม่สนุกเท่าอ่านมังกรหยก จึงต้องทำใจให้เบิกบาน เพื่อจะได้ประติดปะต่อเรื่องราวได้เป็นฉากๆ และนี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวนักกฎหมายที่ได้รับมอบหมายให้รื้อ"คดีบอส-วรยุทธ อยู่วิทยา" หลังจากแถลงสรุปผลสอบข้อเท็จจริง คดีอาญา บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ส่งไปให้รัฐบาลแล้ว ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน แม้จะหมดภาระกิจแล้ว แต่ยังมีภาระที่ใหญ่กว่า ก็คือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยถอดบทเรียนจากคดีบอส “ผมบอกเขาว่า ถ้าให้ผมตรวจสอบคดีนี้เฉยๆ ผมไม่เอานะ การทำคดีนี้ต้องนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ผมถึงรับทำ” วิชา เล่า เหตุใดนักกฎหมายวัย 74 ปีที่เคยเป็นทั้งอัยการ ผู้พิพากษา ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ฯลฯ ยังทำงานมากมาย ทั้งๆ ที่ช่วงวัยแบบนี้ น่าจะพักผ่อนได้แล้ว แต่ด้วยความรู้ความสามารถ และความจำที่ยอดเยี่ยม เขาบอกว่า “ผมยึดหลักที่ลี กวนยู บอกว่า ทำอะไรแล้วรู้สึกว่าตัวเรามีประโยชน์ เราจะมีชีวิตอยู่นาน ถ้ารู้สึกว่าตัวเราไร้ค่า เราจะอยู่ได้ไม่นาน” แม้การพูดคุยครั้งนี้ จะเน้นที่ชีวิตและความคิดของนักกฎหมาย แต่ก็คงต้องคุยเรื่องคดีบอสด้วย และคงไม่พาผู้อ่านเวียนหัวกับภาษากฎหมาย... พอจะสรุปผลสอบข้อเท็จจริงคดี‘บอส’ให้ฟังอีกสักนิดได้ไหม ถ้าถามว่า พวกเขาวางแผนกันยังไง พวกเราเรียกว่าทฤษฎีสมคบคิด เป็นกระบวนการสมยอมกัน เพื่อให้‘บอส’พ้นผิดทางอาญา โดยถือว่าเป็นความไม่สุจริต พฤติกรรมผิดปกติ ช่วงที่ได้รับมอบหมายให้ทำคดีนี้ ทำงานหนักไหม ผมเคยเป็นอัยการ ผู้พิพากษารวมๆ 30 กว่าปี และเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ทำคดีมาเยอะ เรารู้กระบวนการว่า ใครโกหกหรือพูดจริง พูดตรงๆ ผมมองเห็นภาพ ผมไม่ได้เก่ง แต่ผมทำงานมาหลากหลาย โดยเฉพาะระบบไต่สวนที่ใช้สำหรับคดีทุจริต 9 ปีที่เราคลุกคลีกับคนทุจริต บางทีโกหกซึ่งๆ หน้า เราก็ขำในใจแต่ไม่พูด เพราะเราต้องการความจริง และไม่ว่าจะโกหกยังไงก็ต้องมีหลุดบ้าง เหมือนที่เขาบอกว่า อาชญากรรมมีร่องรอยเสมอ เวลาเราตรวจสอบเรารู้ แม้กระทั่งการสร้างวันที่เป็นเท็จ เป็นความผิดปกติที่เห็นได้ชัดในคดีบอส ? ทำไมคดีขับรถชนคนตายโดยประมาทใช้เวลาทำคดี 7-8 ปี ปกติคดีแบบนี้ทำไม่เกินปี เหมือนภาษิตกฎหมายโรมันว่าไว้ “justice delayed is justice denied” ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือความไม่ยุติธรรม อะไรก็ตามที่มีการถ่วงเวลา ไม่ว่าจะถ่วงเวลาแบบไหน มันเห็นร่องรอย

อ่านต่อเพิ่มเติมกรุงเทพธุรกิจ